มนุษย์มีสมองในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ สนองต่อการใช้ชีวิตของตัวเองและพัฒนาให้มีความก้าวหน้าขึ้นตามยุคสมัย จนกลายเป็นวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตที่สืบทอดต่อกันมา และเป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุด
เกษตรกรรมเปลี่ยนสังคมอย่างไร?
ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยหินเก่าที่มนุษย์ยังไม่รู้จักอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง พวกเขาเร่ร่อนอาศัยอยู่ตามถ้ำ เพิงผา หรือหุบเขา โดยล่าสัตว์หาพืชเป็นอาหารในการดำรงชีวิต รู้จักใช้ไฟ มีการสร้างอาวุธอย่างง่าย ๆ โดยใช้หินกระเทาะหยาบ ๆ ไม่มีความปราณีตแต่อย่างใด ซึ่งพวกเขาก็มีการพัฒนาด้านภาษา อย่างการรู้จักสร้างสรรค์ภาพวาดบนผนังถ้ำ นอกจากนี้แล้วยังรู้จักฝังศพด้วย จะเห็นได้ว่าในยุคหินเก่านั้น มนุษย์รู้จักเพียงการปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ สังคมจึงยังไม่ซับซ้อนมากนัก
ภาพจาก https://sites.google.com/site/pakkapolsirmong/home/yukh-hin |
ต่อมาในสมัยหินใหม่มนุษย์รู้จักตั้งรกรากอยู่กันเป็นหลักแหล่ง มีการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นแหล่งอาหาร มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ อย่างการผสมทองแดงกับดีบุก และได้เป็นทองสัมฤทธิ์ที่มีความแข็งแรงขึ้น หรือเครื่องมือที่ทำจากหิน ก็ขัดฝนให้มีความแหลมคมและประณีตสวยงามขึ้น หม้อดินเผา ทอผ้า และคันไถ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขึ้นของกิจกรรม และการค้า ที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งตามมา
จะเห็นได้ว่าเมื่อมนุษย์รู้จักตั้งรกรากอย่างเป็นหลักแหล่งและทำการเกษตร ผู้คนจึงอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มหรือหมู่บ้านเล็ก ๆ ทีนี้สังคมก็จะซับซ้อนขึ้น เพราะการที่มนุษย์อยู่รวมกันหลาย ๆ คน ต้องมีกฎมีเกณฑ์ที่ใช้ร่วมเพื่อความสงบสุข ความเชื่อและศาสนาก็จะเกิดขึ้น เพราะเชื่อตาม ๆ กันมา บูชาสิ่งเหนือธรรมชาติ แน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก หลายคนย่อมมีหลายความคิด และนำมาซึ่งความขัดแย้ง ก่อให้เกิดสงครามและโรคระบาดตามมา
ภาพจาก https://scontent.fbkk8-3.fna.fbcdn.net/ |
จากยุคหินใหม่ที่กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่าเกษตรกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงจากยุคหินเก่าเป็นอย่างมาก มนุษย์ในตอนนั้นอาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าพวกเขาได้วางรากฐานของอารยธรรมขึ้นแล้ว จากการที่มีหมู่บ้าน มีแหล่งอาหาร หลาย ๆ แหล่ง จนเกิดเป็นเมือง (cities) ขึ้น และเป็นการเริ่มต้นของยุคประวัติศาสตร์
เกษตรกรรมที่ถูกพัฒนาได้มีวิธีการใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิต คือการทำชลประทาน กักเก็บน้ำในยามแล้งได้ ทำให้มีผลผลิตเหลือเฟือพอที่จะจำหน่ายและแลกเปลี่ยนกันได้ จนเกิดเป็นเศรษฐกิจ มีการค้า มีการจายตัวของแรงงาน ผู้คนเริ่มไปทำงานฝีมือที่ใช้ความสามารถเฉพาะด้าน ไม่ทำเพียงการเกษตรแล้ว
ภาพจาก https://t1.bdtcdn.net/photos/2020/05/5eccc94388f1520cb84a083b_800x0xcover_e4V9GciI.jpg |
เมื่อเกิดการจำแนกแรงงานไปตามความสามารถ ทำให้เกิดเป็นชนชั้นทางสังคมตามมา เพราะสังคมเรามีอาชีพที่แตกต่างกันไปทำงานส่วนต่าง ๆ เช่น ทหาร ตำรวจ วิศวกร ชาวนา เป็นต้น รัฐบาลจึงต้องมีการจัดระเบียบการปกครองที่ดีและเป็นแบบแผนขึ้น นอกจากนี้ยีงมีศาสนาที่เป็นทางการอีกด้วย
สรุปได้ว่าอารยธรรมเกิดขึ้นอย่างอิสระจากความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเพาะปลูก ที่มีอาหารมากพอสนับสนุนการเจริญเติบโตของประชากร จากยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่รู้จักเพียงปรับตัวกับสภาพแวดล้อม ก็ค่อย ๆ คิดค้นพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดผลประโยชน์ที่ยั่งยืนและยาวนาน ถือเป็นการวางรากฐานอารยธรรมให้กับลูกหลานในเวลาต่อมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น